
เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมาผมและครอบครัวได้มีโอกาสกลับไปเที่ยวชมวัดต้นเกว๋น จ.เชียงใหม่อีกครั้ง จากครั้งแรกเมื่อราว ก.พ. 2556
ผมรู้จักวัดนี้ครั้งแรกตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือจากหนังสืออนุสาร อ.ส.ท. ภาพงามที่ติดตามาตลอดคือภาพส่วนปลายของแป้นกั้นก้อง (ส่วนปลายของป้านลมหรือปั้นลมหรือที่ภาคกลางเรียกส่วนปลายนี่ว่าหางหงส์) เป็นงานแกะสลักไม้ที่งดงามมาก ส่วนปลายตรงนั้นมีลักษณะที่ทางเหนือเรียกว่า มีรูปแบบ ‘หางวัน’ คือรูปทรงของกระหนกตัวเดียวป้อมๆ ช่างแกะสลักเป็นรูปมกรคายนาค ส่วนของแป้นกั้นก้องสลักลายกระหนกเครือเถาว์อ่อนช้อยสวยงามมาก มีกระดิ่งห้อยประดับเป็นระยะทำให้จินตนาการได้ถึงความสงบร่มเย็นแม้เห็นเพียงภาพถ่าย


การได้ไปเห็นวัดเล็กๆสร้างจากไม้ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น รอบวิหารโรยด้วยกรวดทรายเล็กๆ สะอาดตา นัยว่าเป็นสีทันดรมหาสมุทรล้อมรอบเขาพระสุเมรุ มีศาลาประกอบล้อมเป็นรูปตัวยู และศาลาจตุรมุขที่ว่ากันว่าพบเพียงแห่งเดียวในภาคเหนือ มีต้นหมาก ต้นตาลสูงชะลูดอยู่โดยรอบบริเวณช่างเป็นภาพที่สวยงามแปลกตาแม้เห็นครั้งที่สองก็ยังรู้สึกประทับใจ …คนโบราณเขาคิดได้ยังไง



การพาเด็กๆ วัยกำลังซนไปวัดนี่บางทีก็ดูจะวุ่นวายอยู่เหมือนกัน เราก็อยากดูนานๆ แต่เด็กก็คือเด็ก น่าจะนึกออก โดยเฉพราะเด็กชาย ฮา.. ไม่เป็นไรครับ ไว้หาโอกาสไปใหม่ รอเขาโตพูดรู้เรื่องอีกหน่อย..
วัดต้นเกว๋นมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงแบบแผนทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามและทรงคุณค่าซึ่งสมาคมสถาปนิกสยามประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี พ.ศ. 2532
วัดต้นเกว๋นนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ จ.ศ. 1218 (พ.ศ. 2399-2412) สมัยระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าหลวงปกครองนครเชียงใหม่ ต้นเกว๋นเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งตามภาษาพื้นเมืองล้านนา ค้นๆดูอาจเรียกว่า มะเกว๋น บ่าเกว๋น ที่มีอยู่ในบริเวณที่สร้างวัดจึงได้ชื่อวัดครั้งแรกว่า “วัดต้นเกว๋น” แต่ตอนที่ไปผมก็ไม่ทันได้สังเกตนะว่ามีหรือเปล่า ชื่อใหม่คือ “วัดอินทราวาส” มาจากชื่อของ เจ้าอาวาสที่สร้างวัดผสมกับคำว่าเจ้าอาวาส (อินทร์ + อาวาส)
ภาพวัดต้นเกว๋น ปี พ.ศ.2556 (ยกเว้น 9 รูปสุดท้ายเป็นของปี 2561)
แผนที่
น่าไปมากครับ